ท่ออโลหะ เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ช่างไฟฟ้าเลือกใช้ในการติดตั้งระบบไฟฟ้า เพื่อป้องกันสายไฟจากความเสียหายทางกายภาพ ความร้อน ความชื้น สารเคมี และสภาพแวดล้อมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสายไฟได้ นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีความเป็นระเบียบ สวยงาม และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น บทความนี้จะพาคุณไปทำความรู้จักกับท่ออโลหะอย่างละเอียด ตั้งแต่ประเภทต่าง ๆ คุณสมบัติ การเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน และวิธีการติดตั้งที่ถูกต้อง
ท่ออโลหะคือ ท่อที่ผลิตจากวัสดุที่ไม่ใช่โลหะ ท่ออโลหะที่ใช้งานทั่วไปในการเดินสายมีหลายชนิดเช่น ท่อ PVC, HDPE และ RTRC เป็นต้น โดยมีลักษณะทั้งที่เป็นท่ออโลหะแข็ง และท่ออโลหะอ่อน โดยท่อร้อยสายและเครื่องประกอบการเดินท่อต้องทำด้วยวัสดุที่เหมาะสมสำหรับงานทางไฟฟ้า ทนต่อความชื้น ทนสภาวะอากาศ และสารเคมี ทนต่อแรงกระแทกและแรงอัด เป็นต้น
ต้องมีคุณสมบัติด้านเปลวเพลิง (Flame Retardant) ทนแรงกระแทกและแรงอัด ไม่บิดเบี้ยวเพราะความร้อน ภายใต้สภาวะที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใช้งาน ในสถานที่ใช้งานซึ่งท่อร้อยสายมีโอกาสถูกแสงแดดโดยตรง ต้องใช้ท่อร้อยสายชนิดทนแสงแดดได้
วัสดุที่ใช้ต้องทนความชื้น ทนสารที่ทำให้ผุกร่อน และมีความแข็งแรงเพียงพอที่จะทนแรงกระแทกได้โดยไม่เสียหาย ถ้าใช้ฝังดินโดยตรงโดยไม่มีคอนกรีตหุ้ม วัสดุที่ใช้ต้องสามารถทนน้ำหนักกดที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการติดตั้งได้
ท่ออโลหะที่ใช้งานทั่วไปมีหลายชนิด โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้
ท่อ PVC (Polyvinyl Chloride) คือ ท่อที่ทำจากพลาสติกหรือ Resin สังเคราะห์ชนิดหนึ่ง ผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 216-2524 (มาตรฐานทั่วไป) สำหรับใช้งานร้อยสายไฟฟ้า และสายโทรศัพท์ โดยท่อ PVC ที่ใช้ในงานไฟฟ้าจะเป็นท่อไฟสีเหลือง
มีความเหนียว ยืดหยุ่น ทนต่อสภาวะอากาศ และกันการกัดกร่อนของกรดและด่างได้ดี มีน้ำหนักเบา และเป็นฉนวนไฟฟ้า ทั้งยังมีคุณสมบัติต้านเปลวเพลิง ทนอุณหภูมิได้สูงถึง 70°C (หรือตามที่ผู้ผลิตกำหนด)
ข้อเสียของท่อ PVC คือ เมื่อลุกติดไฟ เช่น เมื่อเกิดเพลิงไหม้อาคาร จะมีควันดำปิดกั้นการมองเห็น และให้แก๊สที่เป็นกรดสารพิษไดออกซินที่เป็นอันตรายเมื่อสูดดมเข้าร่างกาย และมีไฮโดรเจนคลอไรด์ซึ่งเมื่อผสมกับความชื้นในปอด จะมีฤทธิ์ทำลายเนื้อเยื่อ และถ้าผสมน้ำจะเป็นกรดไฮโดรคลอริกซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง สามารถหลีกเลี่ยงได้โดยการฝังในผนังปูน ท่อชนิดนี้จึงมีข้อจำกัดในการใช้งานในบางสถานที่ โดยเฉพาะอาคารที่มีผู้คนอยู่อาศัยจำนวนมาก และอาคารที่เมื่อเกิดเพลิงไหม้แล้วต้องใช้เวลาในการหนีไฟนาน
ท่อ HDPE (High Density Polyethylene) มีความเหนียว ยืดหยุ่น ทนต่อสภาวะอากาศ และทนการกัดกร่อนของกรดและด่างได้ดี มีน้ำหนักเบา และเป็นฉนวนไฟฟ้า ลักษณะภายนอกมีสีดำ เรียบมัน และมีแถบคาดสีส้ม เพื่อเป็นรหัสสีสำหรับใช้งานร้อยสายไฟฟ้า มาตรฐานท่อ HDPE งานไฟฟ้า ที่คาดสีส้ม จะอ้างอิงตาม มอก.982-2556 ที่เป็นมาตรฐานท่อสำหรับน้ำดื่ม ที่มีแถบคาดสีฟ้าหรือไม่มีแถบสีคาด
เหมาะสำหรับการเดินฝังดิน เพราะสามารถทนแรงกดทับได้ดี และมีความยืดหยุ่นสูง แต่ไม่ต้านเปลวเพลิง ห้ามใช้เหนือดินในอาคาร แต่อนุญาตให้ใช้เหนือดินภายนอกอาคารได้ โดยต้องหุ้มด้วยคอนกรีตหนาไม่น้อยกว่า 50 มม. ปกติจะมีสีดำ มีทั้งชนิดผิวเรียบและลูกฟูก ทนอุณหภูมิได้สูงถึง 80°C (หรือตามที่ผู้ผลิตกำหนด)
ท่อ HDPE ไม่นิยมเดินเข้าบริภัณฑ์ไฟฟ้า ปัจจุบันจึงไม่มีอุปกรณ์ประกอบให้ใช้งานมากนัก ในการต่อเพื่อเพิ่มความยาวสามารถทำได้โดยใช้เครื่องมือต่อเชื่อมด้วยความร้อน หรือใช้ Coupling ชนิดมีเกลียว
ท่อ RTRC หรือ ท่อ FRE (Forglass Reinforced Epoxy Conduit) เป็นท่อที่ผลิตตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม มอก. 2518-2557 สำหรับใช้ร้อยสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์
ทำจาก Fiberglass และ Resin มีความแข็งแรง ผิวเรียบ เหนียว ยืดหยุ่น ทนต่อแรงกระแทกได้ดีมาก ทนต่อสภาวะอากาศและการกัดกร่อนได้ดี สามารถใช้ได้ทั้งเหนือดินและใต้ดินในระบบแรงต่ำและแรงสูง ปัจจุบันนิยมใช้งานมากขึ้น ทนอุณหภูมิได้สูงถึง 110°C (หรือตามที่ผู้ผลิตกำหนด)
ท่อ RTRC เป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดี เป็นพลาสติกชนิด Thermoseting ไม่หลอมละลายเมื่อได้รับความร้อนสูง การต่อท่อใช้วิธีบานปลายท่อจากผู้ผลิต และสวมเข้าด้วยกันโดยมีปะเก็น ทำหน้าที่อัดแน่นโดยไม่ต้องใช้กาว สามารถดัดโค้งได้โดยการให้ความร้อนและใช้โมลด์ ช่วยให้คงรูปจนได้องศาตามที่ต้องการ ท่อที่ใช้งานทั่วไปเป็นขนาดใหญ่ ไม่ได้ใช้สำหรับเดินเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้า ปัจจุบันจึงไม่มีอุปกรณ์ประกอบให้ใช้งาน ในการผลิตจะจำแนกผลิตภัณฑ์ตามชนิด (เหนือดิน หรือใต้ดิน) ชั้นคุณภาพ (1 หรือ 2) และชื่อขนาด ซึ่งจะมีขนาดและความหนาไม่เท่ากัน
ท่ออโลหะชนิดต่าง ๆ มีกำหนดการใช้งานดังนี้
ท่ออโลหะชนิด PVC และ RTRC มีข้อกำหนดการใช้งานเหมือนกัน สามารถใช้เดินซ่อนในผนัง พื้น และเพดาน ใช้ในบริเวณที่ทำให้เกิดการผุกร่อนและเกี่ยวข้องกับสารเคมีได้ ถ้าท่อและเครื่องประกอบการเดินท่อได้ออกแบบไว้สำหรับใช้งานในสภาพดังกล่าว
ใช้งานในที่เปียกหรือชื้นซึ่งได้จัดให้มีการป้องกันน้ำเข้าไปในท่อ ใช้ในที่เปิดโล่ง (Exposed) ซึ่งพ้นจากความเสียหายทางกายภาพ ใช้ติดตั้งฝังดินได้แต่ต้องเป็นไปตามข้อกำหนดเรื่องการฝังดินด้วย
ส่วนท่ออโลหะชนิด HDPE สามารถใช้เหนือดินภายนอกอาคารได้ โดยมีคอนกรีตหุ้มหนาไม่น้อยกว่า 50 มม. ใช้ฝังได้ดินได้ และสามารถใช้ในบริเวณที่ทำให้เกิดการผุกร่อนและเกี่ยวข้องกับสารเคมีได้ ถ้าท่อและอุปกรณ์ประกอบการเดินสาย ได้ออกแบบไว้ให้ใช้งานในสถานที่ดังกล่าว
ห้ามใช้ท่ออโลหะ PVC และ RTRC
(ก) ในบริเวณอันตราย นอกจากจะระบุไว้เป็นอย่างอื่น (ข) ห้ามใช้เป็นเครื่องแขวนและจับยึดดวงโคม (ค) ห้ามใช้ในบริเวณที่อุณหภูมิโดยรอบเกิน 50°C และ (ง) อุณหภูมิใช้งานของสายเกินกว่าพิกัดอุณหภูมิของท่อที่ระบุไว้
ห้ามใช้ท่ออโลหะ HDPE
(ก) ในที่เปิดโล่ง (ข) ภายในอาคาร (ค) ในบริเวณอันตราย (ง) ห้ามใช้ในบริเวณที่อุณหภูมิโดยรอบเกิน 50°C และ (จ) อุณหภูมิใช้งานของสายเกินกว่าพิกัดอุณหภูมิของท่อที่ระบุไว้
- จำนวนสายไฟฟ้าสูงสุดในท่อร้อยสายชนิดอโลหะต้องไม่เกินตามที่กำหนดในตารางที่ 5-3 จากมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2564 โดยคำนวณจากพื้นที่หน้าตัดรวมทั้งฉนวนและเปลือกของสายทุกเส้นในท่อร้อยสายรวมกันคิดเป็นร้อยละเทียบกับพื้นที่หน้าตัดภายในของท่อ
จํานวนสายไฟในท่อร้อยสาย |
1 |
2 |
3 |
4 |
มากกว่า 4 |
สายไฟทุกชนิด ยกเว้น สายชนิดมีปลอกตะกั่วหุ้ม |
53 |
31 |
40 |
40 |
40 |
สายไฟชนิดมีปลอกตะกั่วหุ้ม |
55 |
30 |
40 |
38 |
35 |
- เมื่อเดินท่อเข้ากล่องหรือส่วนประกอบอื่น ๆ ต้องจัดให้มีบุชชิง หรือมีการป้องกันไม่ให้ฉนวนของสายชำรุด
- มุมดัดโค้งระหว่างจุดดึงสายรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 360 องศา
- ต้องติดตั้งระบบท่อให้เสร็จก่อนจึงทำการเดินสายไฟฟ้า เพื่อทดสอบว่าสามารถร้อยสายและดึงสายออกได้
- การจับยึด ต้องจับยึดให้มั่นคง แข็งแรง ระยะห่างระหว่างจุดจับยืดจุดแรก กับอุปกรณ์หรือกล่องต่อสายไม่เกิน 0.90 ม. และระยะห่างระหว่างจุดจับยึดด้วยกันไม่เกิน 3.0 ม.
- การต่อสาย ทำได้เฉพาะในกล่องต่อสาย หรือกล่องต่อจุดไฟฟ้าที่เปิดออกได้สะดวก และห้ามต่อสายในท่อร้อยสาย
- การติดตั้งท่อร้อยสายเข้ากับกล่องต่อสายหรือเครื่องประกอบการเดินท่อ ต้องมีบุชชิงเพื่อป้องกันมิให้ฉนวนของสายชำรุด ยกเว้นกล่องต่อสายและเครื่องประกอบการเดินท่อได้ออกแบบเพื่อป้องกันการชำรุดของฉนวนไว้แล้ว
- จำนวนสายไฟต้องไม่เกินที่กำหนดในมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าฯ การเดินสายหลายเส้น จะต้องปรับลดขนาดกระแสของสายด้วย
- สายที่เดินร้อยท่อในแนวดิ่ง ต้องมีการจับยึดสาย
- ท่อที่เดินผ่านผนังหรือพื้น ต้องมีการป้องกันควันและไฟลุกลามด้วย
- การเดินท่อผ่านเข้าห้องที่มีอุณหภูมิต่างกันมาก ต้องระวังการเกิดการควบแน่นโดยการป้องกันการไหลเวียนของอากาศด้วยการซีลท่อด้วย
- ท่อ HDPE ห้ามเดินเหนือพื้นภายในอาคาร เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติการต้านเปลวเพลิง
- ท่อ PVC ห้ามเดินในอาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่พิเศษ เนื่องจากควันดำจะปิดกั้นเส้นทางหนีไฟ และเป็นพิษเมื่อสูดดมเข้าไป
- การใช้สายชนิด XLPE ร้อยท่อจะต้องระวังว่าอุณหภูมิใช้งานของท่อ ต้องไม่ต่ำกว่า 90°C เช่น ห้ามร้อยในท่อ PVC เป็นต้น หรือโดยการลดขนาดกระแสของสายลงเพื่อให้อุณหภูมิของสายไฟฟ้าไม่เกินอุณหภูมิใช้งานของท่อ
- ต้องมีการจับยึดท่ออโลหะแข็งให้มั่นคงตามระยะที่ระบุไว้ตามตารางที่ 5-5 (ก) จากมาตรฐานการติดตั้งทางไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย พ.ศ. 2564 และจับยึดท่ออโลหะแข็งภายในระยะ 1 เมตรจากจุดต่อท่อ กล่องต่อสาย ข้อต่อเปิด
ขนาดท่ออโลหะแข็ง (มม.) |
ระยะจับยึด (ม.) |
15-25 |
1.0 |
32-50 |
1.5 |
65-80 |
1.8 |
90-125 |
2.1 |
150 |
2.5 |
การเลือกใช้ท่ออโลหะที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและการใช้งาน การติดตั้งที่ถูกต้องเป็นไปตามข้อกำหนดตามมาตรฐานก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าระบบไฟฟ้าจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย อีกทั้งการเลือกใช้อุปกรณ์ติดตั้งอย่างตู้คอนโทรลและรางครอบสายไฟ ที่ผลิตด้วยวัสดุคุณภาพ ผลิตจากเครื่องจักรที่ทันสมัย ผ่านการรับรองมาตรฐาน จะช่วยลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุและความผิดพลาดจากการติดตั้งทางงานระบบไฟฟ้า ทำให้ระบบไฟฟ้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพ และเกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นในขณะใช้งาน
KJL ผู้นำนวัตกรรมตู้ไฟ รางไฟ ที่ช่างไฟเชื่อมั่น ด้วยเทคโนโลยีการผลิตจากประเทศญี่ปุ่น
สอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่
LINE Official Account: @KJL.connect หรือคลิก https://lin.ee/lzVhFfo
Facebook: facebook.com/KJLElectric