ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นภดล วิวัชรโกเศศ
เครื่องตัดไฟรั่ว หรือ RCD (Residual current device) เป็นอุปกรณ์ที่ถูกออกแบบและติดตั้งในระบบไฟฟ้าเพื่อนำมาใช้ป้องกันหรือลดอันตรายผู้ใช้ไฟฟ้าจากการถูกไฟฟ้าดูด ปัจจุบันตามมาตรฐาน IEC จะระบุและเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า RCD Residual current device โดยมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. จะระบุชื่อของอุปกรณ์นี้ในคำว่า เครื่องตัดวงจรกระแสเหลือ
โดยทั่วไปอุปกรณ์ชนิด RCDs ที่ถูกนำติดตั้งและใช้งานในระบบไฟฟ้านั้นจะมีอยู่หลายประเภท แต่โดยพื้นฐานเครื่องตัดไฟรั่วที่นิยมและเหมาะสมกับการใช้งานของอาคารที่อยู่อาศัยสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าจะมีอยู่ 2 ประเภทได้แก่ RCCB และ RCBO
RCCB (Residual current operated circuit-breaker without integral overcurrent protection) คือเครื่องตัดไฟรั่วชนิดที่ไม่มีการป้องกันกระแสเกินไว้ในตัว โดยมีมาตรฐานกำกับได้แก่ มอก. 2425 และ IEC 61008
RCBO (Residual current operated circuit-breaker with integral overcurrent protection) คือเครื่องตัดไฟรั่วชนิดที่มีการป้องกันกระแสเกินไว้ในตัว โดยมีมาตรฐานกำกับได้แก่ มอก. 909 และ IEC 61009
โดยที่ RCCB, RCBO ที่เป็นแบบ type F, B นั้นเป็นไปตามมาตรฐาน IEC 62423 และ เครื่องตัดไฟรั่ว (RCD) ขนาดไม่เกิน 30 mA จะนำไปใช้งานสำหรับป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูดและไฟไหม้ ส่วนเครื่องตัดไฟรั่วที่มีขนาดไม่เกิน 300 mA จะถูกใช้งานสำหรับป้องกันอันตรายจากไฟไหม้เท่านั้น โดยนิยามของไฟไหม้นี้จะหมายถึงไฟไหม้จากกรณีไฟรั่วลงดินผ่านผิวฉนวนเท่านั้น และการใช้ RCD ควบคู่กับการติดตั้งสายดินเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกแล้วว่า สามารถป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูดได้อย่างมีประสิทธิผล ทำให้สถิติผู้ใช้ไฟฟ้าถูกไฟฟ้าดูดลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้แต่ละประเทศได้มีการปรับปรุงมาตรฐาน และขยายการบังคับใช้งานให้มากยิ่งขึ้นรวมทั้งประเทศไทยของเรา
อย่างไรก็ตามแผงย่อย (Panelboard) ทั้งที่เป็นชนิดคอนซูเมอร์ยูนิต (Consumer unit) หรือ โหลดเซ็นเตอร์ (Load center) จึงเป็นบริภัณฑ์ไฟฟ้า (Electrical equipment) ที่สำคัญ เนื่องด้วยเป็นบริภัณฑ์หลักสำหรับให้อุปกรณ์ชนิดเครื่องไฟรั่วรวมทั้งเซอร์กิตเบรกเกอร์ติดตั้งอยู่ภายใน ดังนั้นเพื่อให้การทำงานของอุปกรณ์ป้องกันดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แผงย่อยหรือที่เรียกชื่อกันโดยทั่วไปกว่าตู้ไฟฟ้า จึงต้องบริภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ไม่ทำจากวัสดุลามไฟ และผลิตจากโรงงานที่ดี มีคุณภาพสูงด้วยเช่นกัน ในบทความครั้งต่อไปจะหาโอกาสนำเสนอข้อมูลและคำแนะนำการเลือกใช้เครื่องตัดไฟรั่ว หรือ RCD ในแต่ละประเภทหรือแบบ (Type) ได้แก่ type AC, A, F, B และ S ให้ถูกต้องและเหมาะสมกับลักษณะการใช้ไฟฟ้าและกระแสรั่วที่ไหลผ่านจากการใช้งานของเครื่องใช้ไฟฟ้าในแต่ละรูปแบบอย่างไร โดยเฉพาะกระแสไฟรั่วที่มีไฟฟ้ากระแสตรงปนอยู่ หรือมีความถี่ที่สูงเกิน 50 Hz ปนอยู่
หากวิศวกรไฟฟ้า หรือช่างไฟท่านใดต้องการตู้ไฟ หรือรางเก็บสายไฟคุณภาพดี ตรงตามมาตรฐาน สามารถดูรายละเอียด หรือสอบถามข้อมูลสินค้าได้ที่ KJL LINE Official Account: @KJL.connect