16 เครื่องมือช่างไฟฟ้า ที่จำเป็นสำหรับช่างไฟทุกคน

2022 - 10 - 18

เครื่องมือช่างไฟฟ้า

เช่นเดียวกับงาน DIY และงานช่างอื่น ๆ งานไฟฟ้าจำเป็นต้องใช้เครื่องมือช่าง สำหรับงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ภายในบ้าน เครื่องมือพื้นฐานอย่าง ค้อน ตลับเมตร ระดับน้ำ และไขควง ก็จะครอบคลุมกับการทำงานทั้งหมดแล้ว แต่สำหรับคนที่เป็นช่างไฟที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็วในการทำงาน การมีเครื่องมือที่เฉพาะกับงานไฟฟ้าจึงจำเป็นอย่างมาก ซึ่งทุกวันนี้ เครื่องมือเหล่านี้หาซื้อได้ไม่ยากเลย ไม่ว่าจะตามร้านเครื่องมือช่าง หรือร้านค้าออนไลน์แพลตฟอร์มต่าง ๆ

ไม่ว่าคุณจะใช่หรือไม่ใช่ช่างไฟ เครื่องมือช่างไฟฟ้า พวกโวลมิเตอร์ ฟีชเทป หรือแม้แต่ไฟฉายธรรมดา จะช่วยให้การซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านนั้นเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นมาก โดยเฉพาะหากคุณเลือกใช้เครื่องมือคุณภาพ นอกจากจะมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีแล้ว ยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนานอีกด้วย และไม่พูดถึงไม่ได้คือ เครื่องมืองานไฟฟ้า เช่น คีมตัดสายไฟ หรือ ไขควง จะมีด้ามจับที่ทำมาจากยางที่กันไฟฟ้าแรงดันสูง ๆ ให้คุณใช้เครื่องมือได้ปลอดภัยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้เครื่องมือธรรมดา

 

 

เครื่องมือช่างไฟฟ้า มีอะไรบ้าง?

1. ตลับเมตร

แทบทุกงานจำเป็นต้องใช้ตลับเมตรในงานไฟฟ้า ตลับเมตรจะใช้ในการวัด เช่น ความสูงของ ปลั๊กไฟ สวิตช์ไฟ หรือกล่องพักสายไฟที่จะติดตั้ง หรือมาร์คตำแหน่งติดตั้งคัทเอาท์ เป็นต้น

2. ค้อน

แน่นอนว่า หน้าที่ของค้อนคือการตอก คุณจะได้ใช้ค้อนในการตอกยึดติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งกล่องพักสายไฟเข้ากับโครงคร่าวผนัง หรือจะใช้ตอกกิ๊บตะปูเพื่อล็อคตำแหน่งสายไฟเอาไว้ หลังจากที่พึ่งเดินสายใหม่

เลือกค้อนให้เหมาะกับงานที่คุณต้องการ

3. ระดับน้ำ

ข้อดีของเครื่องมือวัดความลาดเอียงระดับน้ำตอปิโด คือ ขนาดเล็ก ง่ายต่อการจัดเก็บในกล่องเครื่องมือ โดยเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้คุณแน่ใจว่า อุปกรณ์ เช่น ปลั๊กไฟหรือสวิตช์ไฟ ที่คุณกำลังติดตั้งนั้นตรงกับแนวระนาบและแนวดิ่งอยู่หรือเปล่า

ระดับน้ำตอปิโดเป็นเครื่องมือช่างไฟฟ้าที่ทุกบ้านควรมีติดไว้ เพราะนอกจากงานไฟฟ้าแล้ว ยังนำไปใช้กับงานอื่น ๆ ได้อีกหลายงาน

4. ไฟฉาย 

เพื่อความปลอดภัยและสะอาดตา ระบบไฟฟ้ามักถูกซ่อนอยู่ในห้องหรือมุมที่มองไม่เห็นภายในบ้าน การซ่อมแซมระบบไฟบ่อยครั้งจึงจำต้องทำในที่มืด ดังนั้น เครื่องมืออย่างไฟฉายจะมีความจำเป็นอย่างมากเพื่อให้ทำงานได้สะดวกและปลอดภัย โดยไฟฉายที่ใช้จะเป็นประเภทถือด้วยมือ หรือประเภทคาดหัวก็ได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรใช้คู่กัน เพื่อให้หยิบจับสิ่งต่าง ๆ ได้สะดวกและมีความยืดหยุ่นในการทำงานมากขึ้น

5. มีดอเนกประสงค์

มีดอเนกประสงค์เป็นเครื่องมือที่ให้ความสะดวก ใช้ตัดได้ตั้งแต่ กล่องกระดาษ เทปพันสายไฟ ไปจนถึงสายไฟทั่วไปที่อยู่ภายในบ้าน

6. ไขควง

ไขควงปากแฉก: ช่างไฟฟ้าควรพกไขควงติดตัวไว้ตลอด เพื่อให้สามารถถอนและติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าได้สะดวกทันที  เช่น ปลั๊กไฟ สวิตช์ไฟ แนะนำให้พกไขควงสักสองสามตัวที่มีความยาวของก้านต่างกันและมีขนาดของปลายที่ต่างกัน เช่น เบอร์ 1, เบอร์ 2 และ เบอร์ 3 เป็นต้น

ไขควงปากแบน: ไขควงปากแบนมีให้เลือกหลายขนาด แต่ถ้าคุณต้องการประหยัดพื้นที่ในกล่องเครื่องมือ หรือมีไขควงที่พกอยู่เยอะอยู่แล้ว การเลือกไขควงปากแบนขนาดกลาง ๆ ก็จะใช้งานได้ครอบคลุมกับงานส่วนใหญ่ที่ทำ

สำหรับงานไฟฟ้าควรเลือกไขควงที่ด้ามจับหุ้มด้วยยาง เพื่อการทำงานไฟฟ้าได้ที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น

7. ประแจแอลหกเหลี่ยม

ประแจแอลหกเหลี่ยมใช้ในการขันหรือคลายสกรูที่มีหัวเป็นร่องหกเหลี่ยม ซึ่งมักพบในพัดลมเพดาน ไฟระย้าบนเพดาน เป็นต้น ประแจแอลมีให้เลือกทั้งมาตรฐาน metric (หน่วยเป็นมิลลิเมตร) และมาตรฐาน sae (หน่วยบอกเป็นนิ้ว) หากเป็นไปได้แนะนำให้ซื้อมาใช้ทั้งคู่ จะทำให้ใช้งานได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

8. ประแจคอม้า

มีชื่อเรียกด้วยกันหลายชื่อ ประแจคอม้า คีมคอม้า หรือ ประแจท่อ เป็นเครื่องมือที่ส่วนใหญ่จะใช้ในงานประปา แต่ในงานไฟฟ้าก็เห็นใช้อยู่เหมือนกัน ใช้เพื่อนำชิ้นส่วนที่เสียหายออกมาจากกล่องพักสายไฟที่ทำจากเหล็ก ใช้ปรับตำแหน่งของกล่องพัดลมเพดาน หรือจะใช้กับงานง่าย ๆ อย่างการใช้รัดกิ๊บรัดสายไฟ 

9. ปากกาวัดไฟแบบไม่สัมผัส

บางทีเครื่องมือช่างไฟฟ้าที่ใช้ง่ายที่สุดอาจจะเป็นปากกาวัดไฟแบบไม่สัมผัส ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบว่าสายไฟมีแรงดันไฟฟ้าหลงเหลืออยู่หรือไม่ หากไม่มีจะได้ทำงานตัดหรือต่อสายต่อ ดังนั้นปากกาวัดไฟจึงจัดว่าเป็นโวลมิเตอร์ประเภทหนึ่ง ทำงานโดยใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ สามารถใช้งานได้ปลอดภัย เนื่องจากในการวัดไฟจะไม่มีการสัมผัสกันของโลหะ แต่จะวัดไฟโดยการนำไปวางไว้ใกล้ ๆ กับสายไฟหรือแหล่งจ่ายไฟแทน ปากกาวัดไฟเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่จะได้ใช้บ่อย จึงแนะนำว่าควรมีไว้ติดบ้านแม้คุณจะไม่ใช่ช่างไฟก็ตาม

10. คีมปอกสายไฟ

อีกเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญกับงานไฟฟ้าคือ คีมปอกสายไฟ หรือที่บางคนเรียกว่า คีมหางปลา เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการตัดฉนวนหุ้มสายให้ขาด เหลือไว้แต่ลวดที่อยู่ภายใน ที่ปากของคีมจะมีลักษณะคล้ายฟันปลาที่มีขนาดของช่องว่างเรียงจากเล็กไปใหญ่ ซึ่งช่องว่างเหล่านี้คือขนาดของลวดที่ต้องการเว้นไว้ในขณะตัด ซึ่งจะมีประโยชน์ในการปอกสายไฟที่ขนาดแตกต่างกัน นอกจากนี้คุณยังสามารถใช้คีมปอกสายไฟในการแต่งปลายสาย รวมทั้งคีมบางประเภทยังเพิ่มความหลากหลาย โดยใช้เป็นคีมย้ำสายไฟใช้ต่อสายไฟได้อีกด้วย

11. คีมปากแหลม

เครื่องมือพื้นฐานที่หลายคนน่าจะมีอยู่แล้วอย่าง คีมปากแหลม ในงานไฟฟ้าจะใช้ในการงอและบิดสายไฟ เมื่อคุณกำลังต่อสายเข้ากับเทอร์มินัล หางปลา หรืออุปกรณ์เชื่อมสายอื่น ๆ ปลายของคีมที่เรียวยาวจะช่วยให้ใช้ทำงานละเอียดได้ดี และปลายที่แหลมจะทำให้สามารถใช้คีมแต่งปลายสายไฟได้

12. คีมปากตรง

คีมปากตรงเป็นคีมอเนกประสงค์สำหรับช่างไฟฟ้า ปลายของปากที่เป็นฉากจะช่วยในเรื่องของการบิดงอสายไฟหลายเส้นพร้อม ๆ กัน ตรงกลางของปากจะเป็นใบมีดคมสำหรับใช้ตัดแต่งปลายสาย ถัดจากปากหรือระหว่างด้ามจับจะมีช่องว่างที่ใช้ในการดึงสายไฟ

13. คีมปากเฉียง

คีมปากเฉียงใช้ในการตัดสายไฟ ออกแบบให้มีปลายปากเฉียงและโค้งเข้าหากัน ซึ่งจะเป็นผลดีในการใช้ตัดสายไฟในพื้นที่แคบและเล็ก คีมปากเฉียงบางประเภทจะมาพร้อมกับตัวจับแรงดันไฟฟ้า เพื่อตรวจสอบแรงดันไฟฟ้าก่อนตัด และบางประเภทที่จะใช้เป็นคีมปอกสายได้โดยจะมีส่วนที่คล้ายปากของคีมปอกสายไฟแทรกอยู่ระหว่างด้ามจับ

การใช้งานทั่ว ๆ ไปนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้คีมปากเฉียงหรือคีมปากตรงก่อนหน้านี้ก็ได้ แต่หากคุณต้องทำงานไฟฟ้าบ่อย ๆ เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะไม่ต้องการเครื่องมือเหล่านี้

14. ฟีชเทป

ฟีชเทปใช้ในการดึงสายไฟให้ผ่านท่อร้อยสายไฟหรือช่องว่างระหว่างผนัง วัสดุที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นสายเคเบิล ที่นอกจากจะให้ความแข็งแรงแล้วยังมีคุณสมบัติโค้งงอได้ด้วย จึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับการใช้ร้อยสายผ่านช่อง หรือรูขนาดเล็กต่าง ๆ ซึ่งฟีชเทปนี้จะมีประโยชน์อย่างมากในการปรับปรุงการเดินสายไฟ อย่างเช่น การขยายวงจรไฟฟ้า

การซ่อมทั่วไปในงานไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้ใช้ฟีชเทปเท่าไหร่นัก แต่หากคุณกำลังเรียนรู้ ฝึกฝน ทักษะงานไฟฟ้า ในอนาคตคุณจะต้องได้ใช้ฟีชเทปนี้อย่างแน่นอน

15. โวลต์มิเตอร์ หรือ มัลติมิเตอร์

โวลต์มิเตอร์เป็นเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบสายไฟหรืออุปกรณ์ก่อนเริ่มลงมือทำงานไฟฟ้า ให้แน่ใจว่าสายไฟหรืออุปกรณ์นั้นไม่มีกระแสไฟฟ้าไหลผ่าน หรือใช้ตรวจสอบหลังทำงานไฟฟ้า เช่น ตรวจสอบวงจรว่าสามารถทำงาน ให้กระแสไฟฟ้าผ่านได้หรือไม่ เป็นต้น โวลต์มิเตอร์จะมาพร้อมกับสายขั้วบวกและขั้วลบ โดยใช้สัมผัสกับส่วนที่เป็นลวดหรือโลหะของสายไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้า หลังจากสัมผัส (หากมีกระแสไฟฟ้า) กระแสไฟฟ้าจะไหลผ่านโวลมิเตอร์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีแรงดันไฟฟ้า แล้วจึงแสดงเป็นค่าแรงดันไฟฟ้าออกมา

อีกเครื่องมือหนึ่งที่คล้ายกันคือ มัลติมิเตอร์ ที่ไม่ใช่แค่สามารถใช้วัดแรงดันไฟฟ้าได้เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้วัดการไหลของกระแสไฟฟ้าและค่าต้านทานไฟฟ้าได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การใช้โวลมิเตอร์และมัลติมิเตอร์จำเป็นต้องศึกษาพื้นฐานงานไฟฟ้าก่อนใช้งาน เพื่อให้ใช้งานได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย

16. คีมย้ำสายไฟ

ในการต่อสายไฟเข้ากับหางปลา เทอร์มินอล หรืออุปกรณ์ต่อสายไฟอื่น ๆ จำเป็นต้องใช้คีมย้ำสายไฟเพื่อให้การต่อสายไฟนั้นแน่นและแข็งแรง โดยสิ่งที่เกิดขึ้นจากการหนีบของปากคีมจะคล้าย ๆ กับการเชื่อมเหล็ก เพียงแต่จะเป็นการเชื่อมเหล็กในระดับที่เล็กมาก จึงสามารถเชื่อมลวดและโลหะเล็ก ๆ เข้าด้วยกันได้

 

สรุป

ประเด็นที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการเลือกใช้งานเลยก็คือ การหาอุปกรณ์งานช่างที่จำเป็นสำหรับการใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงคุณภาพ รวมไปถึงอุปกรณ์สำคัญอย่างตู้คอนโทรลไฟฟ้า และรางไฟ ที่ช่างควรเลือกแบรนด์ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรอง เพื่อความปลอดภัยทั้งกับผู้ใช้งาน และผู้ติดตั้งเองด้วย